วิดีโอกันส์ชิ

วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ดอกทานตะวัน

ทุ่งทานตะวัน




ผมได้ยินเรื่องการปลูกดอกทานตะวันในแถบจังหวัดสระบุรีและลพบุรี นานราวสิบกว่าปีมาแล้ว ครั้งแรกที่ได้ยินก็ไม่ค่อยจะเชื่อหูนัก เป็นไปได้หรือที่เมืองไทยจะปลูกกันนับเป็นร้อยๆไร่ และเหลืองอร่ามกันแบบที่เห็นในต่างประเทศ เค้าปลูกไปทำอะไรกันหรือว่าปลูกเพื่อความสวยงาม ตอนนั้นพรรคพวกที่นั่งรถผ่านสระบุรีเล่าให้ฟัง ซึ่งเจ้าตัวยังแปลกใจและดูจะตื่นเต้นไม่น้อย
นึกไม่ออกว่าเจ้าเมล็ดดอกทานตะวันจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง เคยเห็นก็แต่เพียงเมล็ดแห้งที่คั่วหรืออบสำหรับทานเล่นๆเหมือนเมล็ดแตงโม หรือว่าเอาไปเป็นอาหารนก หรือว่าเอาไปทำอาหารสัตว์ ก็สงสัยกันอยู่นาน กว่าจะรู้ความจริงกันในเวลาต่อมา


จังหวัดลพบุรี เคยไปถ่ายภาพในทุ่งทานตะวัน เจ้าของบอกว่าเป็นที่เช่า แปลงนี้เนื้อที่ประมาณ 70 กว่าไร่ แปลงติดๆกันก็เป็นที่เช่าเหมือนกัน ลักษณะด้านหน้าจะแคบแต่จะยาวลึกไปข้างหลังจนเกือบถึงเชิงเขา เจ้าของรายนี้บอกว่าตนเองอาศัยอยู่ห่างจากนี้ไปราวสิบกิโล เช้ามาก็จะมาดูไร่ ตอนเย็นหรือบ่ายๆก็จะกลับ
ปลูกแล้วไม่ต้องกลัวขายไม่ได้เพราะบริษัท ซีพี เค้ารับซื้อทั้งหมดในราคาประกันที่ทราบล่วงหน้า โดยจะส่งเจ้าหน้าที่มาดูแล มาแนะนำวิธีการต่างๆ และยังมีการอบรมให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ใครเข้าฟังก็จะมีของแจกเป็นที่ระลึกเพื่อดึงดูดให้เข้าอบรม เรื่องการลงทุนอื่นๆ เช่นปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ดูเหมือนว่า ซีพีเค้าจะให้ไปก่อน แล้วไปหักหนี้กันภายหลังเมื่อขายผลผลิตได้ ดูๆแล้วก็น่าจะดี ที่ชาวบ้านมีแค่ที่ดินกับแรงงาน อย่างอื่นก็มีคนช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ ได้ยินว่าเกษตรกรที่เคยปลูกข้าวฝ่างหรือข้าวโพดต่างหันมาปลูกทานตะวันกันมากขึ้น


เวลาจะเก็บเมล็ดดอกทานตะวันก็ต้องรอจนแห้งกันทั้งต้น ดอกไหนใหญ่ก็จะโค้งงอเหมือนคาระวะแผ่นดิน วิธีการเก็บก็เหมือนกับการเกี่ยวข้าว คือใช้เคียวเกี่ยวมาทีละดอก กองๆกันไว้เป็นระยะๆ ได้มากพอแล้วก็จะเอาถุงมาใส่ มัดให้แน่นแล้วแบกไปใส่รถอีแต๋นหรือรถปิ๊คอัพ ส่วนจะสีออกเป็นเม็ดแบบข้าวเปลือก จะทำกันที่บ้านหรือที่โรงงาน ผมก็ไม่ทราบได้ แต่จะว่าไปแล้ว พืชเกษตรหลายชนิด มีเครื่องสีกันเกือบจะทุกชนิด ยกใส่รถไปทำงานกันที่ไร่ได้ทันที รายไหนไม่มีเครื่องสีก็จะมีผู้รับเหมาบริการด้านนี้


โรงงานของซีพีเป็นโรงงานขนาดใหญ่ อยู่บนถนนสายสระบุรี – เพชรบูรณ์ มองเห็นแปลงดอกทานตะวันรายล้อมเกือบรอบด้านผลผลิตจากโรงงานแปรรูปเมล็ดดอกทานตะวันมีหลากหลาย ทำเป็นขนมก็หลายแบบ ที่ผมชอบทานก็เป็นเมล็ดอบแห้ง เค็มๆมันๆ อร่อยดี กินแบบเผลอๆ เพลินๆ ก็ล่อไปซะหลายซอง
น้ำมันที่สะกัดได้จากเมล็ดดอกทานตะวันแห้งคิดว่าน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หลัก ส่วนผลิตภัณฑ์อย่างอื่นน่าจะเป็นตัวรอง หรืออาจเป็นผลพลอยได้จากกากที่เหลือ ซึ่งนำไปแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์อาหารอื่นได้อีกมากมาย
น้ำมันที่ได้จากดอกทานตะวันจะมีราคาสูงกว่าน้ำมันพืชทั่วไปเล็กน้อย แต่มีประโยชน์ตรงที่ช่วยลดความดัน ซึ่งน่าจะเหมาะนำไปปรุงอาหารสำหรับผู้มีปัญหาเรื่องสุขภาพ คนไทยในระยะหลังๆนี้สนใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น น้ำมันพืชชนิดต่างๆที่ไม่ค่อยนิยมในอดีต กลับมีลูกค้ามากขึ้นเช่นน้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก(จากต่างประเทศ) หรือน้ำมันงาจากบ้านเรา บางชนิดมีราคาสูงมากแต่เพื่อสุขภาพระยะยาว ก็คงต้องจำใจต้องซื้อ
ดอกทานตะวันปลูกเพื่อแปรรูปในทางอุตสาหกรรมการเกษตร แต่ภาพของแปลงดอกทานตะวันที่เห็นกันสุดลูกหูลูกตา ผู้คนส่วนใหญ่จะรู้จักและให้ความสนใจกันในด้านความสวยงาม และด้านการท่องเที่ยวมากกว่า จนทางจังหวัดอาศัยจุดนี้ดึงดูดให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว มีการจัดงานเพื่อส่งเสริมกันเป็นประจำทุกปี ทำให้สองจังหวัดนี้เป็นที่รู้จักกันในฐานะที่เป็นจังหวัดของท้องทุ่งทานตะวัน เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีในจังหวัดอื่น ใครที่เคยเห็นเป็นครั้งแรกก็บอกได้เลยว่า เป็นภาพที่ตื่นตาตื่นใจไม่น้อยมันเหลือง มันสดใสมากทีเดียว เห็นที่อื่นแค่ต้นสองต้นมันก็งั้นๆ แต่นี้เป็นร้อยๆไร่ หรือหลายร้อยไร่ติดกันเป็นพืด ดูแล้วมีความอลังการมากมีเดียว
เมื่อถึงเดือนตุลาคม ดินแดนแถบนี้จะมีบรรยากาศที่คึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยว ต่างอยากเห็นอยากสัมผัสกับความสวยงามของดอกสีเหลืองดอกโตๆ ภาพของนักท่องเที่ยวที่จอดรถตามริมทาง และพากันไปถ่ายรูปในทุ่งทานตะวันเป็นกลุ่มๆ จึงเป็นภาพที่เห็นเป็นปกติในย่านนี้
ใหม่ๆใครจะถ่ายภาพในแปลง ใครจะเดินชมก็ไม่มีใครว่าอะไร เพราะเจ้าของสวนคงไม่มานั่งเฝ้า แต่มาภายหลังชาวสวนชักจะหัวเสธฯ คือฉลาดขึ้นและมีหัวคิดในทางการค้า มีการกั้นรั้วด้านหน้า และตั้งโต๊ะเก็บเงินจากผู้ที่ต้องการเข้าไปเห็นอย่างใกล้ชิดใครไม่อยากเข้าไปก็ชะเง้อเอาเองที่นอกรั้ว ค่าผ่านประตูวันๆหนึ่งคงได้เงินไปไม่น้อย เผลอๆอาจได้เงินมากกว่าขายเมล็ดแห้งๆด้วยซ้ำไป แรกๆก็เก็บค่าชมคนละ 2 บาท แต่ ณ วันนี้ก็น่าจะขยับราคาสูงขึ้นกว่าแต่ก่อน ผ่านไประยะหลังๆ เห็นมีสร้างนั่งร้านสูงราว 3 - 4 เมตร เพื่อให้เห็นทุ่งกว้างได้ชัดขึ้น แต่ก็ต้องรอคิวกันนานหน่อย เพราะช่างภาพและนางแบบจำเป็น ขึ้นไปถ่ายภาพกันมากมาย
เมื่อถึงฤดูที่ดอกบาน ย่านนี้จะคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว แปลงไหนที่กำลังออกดอกบานสะพรั่ง ก็จะมีตลาดนัดชั่วคราวจากชาวบ้านไปปักหลักขายของกันเป็นที่ครื้นเครง ครั้นเมื่อดอกวายก็จะย้ายไปยังแปลงอื่น หมุนเวียนกันไปแบบนี้ตลอดเทศกาล
จากกรุงเทพถึงทุ่งทานตะวัน ระยะทางเพียงแค่ร้อยกว่ากิโลเมตร เที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับกันแบบสบาย จุดแวะเที่ยวตามเส้นทาง มีหลายแห่ง เช่นตลาดนัดมวกเหล็กเจ้าของสโลแกนว่า นมดี กระหรี่ดัง ที่นี่เป็นตลาดนัดขนาดใหญ่ ที่ขึ้นชื่อและต้องยกนิ้วให้ก็ต้องเป็นกระหรี่พับ ได้มาสักลูกสองลูกร้อนๆจากเตา ทานกับกาแฟร้อนสักถ้วย รับรองทั้งอิ่มทั้งอร่อย
แวะน้ำตกเจ็ดสาวน้อย ชมไร่อรุ่น และชิมไวน์จากไร่ ก็ไม่เลว หรือจะหาอะไรเย็นๆทานพร้อมกับนั่งชมธรรมชาติของไร่องุ่นก็เข้าท่า จากนี้เลยไปหน่อยก็มีถ้ำต้นไม้ ที่เห็นต้นไม้สองฝากถนนโค้งเข้าหากันจนแน่นและดูร่มรื่น
ที่พลาดไม่ได้ก็คือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเป็นเขื่อนโครงการพระราชดำริ และเขื่อนป่าสักนี้แหละที่ช่วยให้กรุงเทพพ้นจากน้ำท่วมมาได้จนถึงทุกวันนี้ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2542 เป็นวันทำพิธีเปิดเขื่อนป่าสัก จนถึงวันนี้ก็ 5 ปีพอดี
หรือใครอยากเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจก็คือนั่งรถไฟผ่ากลางทุ่งทานตะวัน และจอดให้ลงไปถ่ายภาพ ขบวนนี้จะไปสิ้นสุด ที่สถานีเขื่อนป่าสัก ออกจากหัวลำโพงราว 7 โมงเช้า ขากลับถึงกรุงเทพก็ตอนเย็นๆ ขบวนพิเศษนี้มีเฉพาะเดือน พฤศจิกายน ถึง ธันวาคม เท่านั้น เป็นขบวนพิเศษจริงๆ เพื่อการชมทุ่งทานตะวันโดยเฉพาะ ติดต่อสอบถามที่ได้การรถไฟแห่งประเทศไทย